มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยทำหมันและฉีดวัคซีนสุนัขและแมวกว่า 500,000 ตัวตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 17 ปีในเดือนธันวาคม 2563 นับเป็นจำนวนการทำหมันสัตว์จรจัดที่มากที่สุดในโลก โดยนายจอห์น ดัลลีย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ ชี้แจงว่าการทำหมันสัตว์สามารถแก้ปัญหาสัตว์จรจัดได้ในระยะยาว “วิธิที่ยั่งยืนและมีมนุษยธรรมมากที่สุดในการหยุดยั้งความทรมานของสุนัขและแมวจรจัดข้างถนน คือการทำหมันและฉีดวัคซีน ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ยังหมายรวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในเอเชียและทั่วโลกอีกด้วย”
มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยเริ่มดำเนินการในปีพ.ศ.2546 โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัดด้วยการทำหมันและฉีดวัคซีน ในเดือนธันวาคม 2563 นี้ได้ทำหมันสัตว์ไปแล้วกว่า 500,000 ตัว ด้วยวิธิการ CNVR (จับ l ทำหมัน l ฉีดวัคซีน l ปล่อยกลับสู่ถิ่นเดิม) โดยได้ทำหมันสุนัขจรจัดไปแล้วกว่า 90% ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นที่ตั้งของมูลนิธิฯ
ในช่วงระยะเวลา 17 ปีของการดำเนินงานนั้นพบสุนัขมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเพียง 1 ตัว จากนั้นจึงได้จัดตั้งหน่วยทำหมันเคลื่อนที่และคลินิกที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2558 และขณะนี้มุ่งเน้นการควบคุมประชากรสัตว์จรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงพัทยา
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2564 นั้นตั้งเป้าในการเพิ่มหน่วยทำหมันเคลื่อนที่ 2 หน่วยในภาคใต้ และมีโครงการที่จะสนับสนุนการทำหมันที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเตรียมจัดตั้งหน่วยการศึกษาสวัสดิภาพสัตว์ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ข้อมูลและถ่ายทอดความรู้ในการทำหมันและแนวคิดในการจัดการกับปัญหาสุนัขจรจัดแก่หน่วยงานภาครัฐ อาสาที่ช่วยเหลือสัตว์ หน่วยงานการศึกษาและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอื่น ๆ ซึ่งมูลนิธิได้เปิดศูนย์การเรียนรู้เพื่อสวัสดิภาพสัตว์แห่งแรกของประเทศไทยที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
“หน่วยงานภาครัฐมีความเห็นตรงกันว่าโครงการ CNVR นั้นเป็นการจัดการปัญหาสัตว์จรจัดอย่างยั่งยืน” นายสัตวแพทย์ตันติกร รุ่งพัฒนะ ผู้อำนวยการสวัสดิภาพสัตว์กรุงเทพฯ ของมูลนิธิฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์กล่าว “มูลนิธิฯ ได้ทำหมันสัตว์ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลรวมแล้วกว่า 250,000 ตัว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลาย ภาคส่วนที่ร่วมมือกันในการดำเนินการเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของสัตว์จรจัดและชุมชนให้ดีขึ้น”
มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยได้ทำงานร่วมกับภาครัฐในหลายมิติของการจัดการกับสัตว์จรจัด เช่นการเข้าร่วมประชุมหารือและสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสุนัขและแมวจรจัด การจัดอบรมเกี่ยวกับการทำหมันสัตว์ให้แก่หน่วยงานในท้องถิ่นต่าง ๆ และการประสานงานกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานในพื้นที่ในการจัดตั้งหน่วยทำหมันในแต่ละเขต
โดยทั้งนายจอห์นและนายสัตวแพทย์ตันติกรได้กล่าวขอบคุณไปยังผู้สนับสนุนทุกคน “มูลนิธิฯ สามารถดำเนินงานอยู่ได้ก็เพราะการบริจาคจากผู้ที่มีจิตใจที่เมตตาต่อสัตว์และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของสุนัขและแมวจรจัดที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้นตัวเลขการทำหมันกว่าครึ่งล้านในครั้งนี้ จึงเป็นความสำเร็จของผู้สนับสนุนมูลนิธิฯ ทุกคนเช่นกัน”
มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ดำเนินงานด้วยเงินบริจาคจากผู้สนับสนุนทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งรวมถึงหน่วยทำหมันเคลื่อนที่ที่ออกให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยสามารถสนับสนุนการทำงานด้วยการบริจาคผ่านหลายช่องทางของทางมูลนิธิ ซึ่งสามารถติดตามได้ทางเพจ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย, ประเทศไทย (Soi Dog – in Thai) และเว็บไซต์ soidog.org
ขอบคุณที่มา : มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย, ประเทศไทย (Soi Dog – in Thai)