Dogs & Cats

มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (ซอยด๊อก) ทำหมันฉีดวัคซีนสุนัขและแมวฟรีครบหนึ่งล้านตัว

มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (ซอยด๊อก) หน่วยงานการกุศลช่วยเหลือสุนัขและแมวโดยไม่แสวงหาผลกำไร ประกาศยอดทำหมันสุนัขและแมวถึงหนึ่งล้านตัวสำเร็จแล้ว

มูลนิธิฯ เริ่มต้นการช่วยเหลือสัตว์จรจัดในจังหวัดภูเก็ตเมื่อปี พ.ศ. 2546 ได้ช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัดอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการทำหมันและฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของมูลนิธิฯ ที่ซอยด๊อกนำเสนออย่างต่อเนื่องว่าเป็นการจัดการกับประชากรสุนัขและแมวอย่างได้ผลมีมนุษยธรรมและยั่งยืน ปัจจุบันสัตวแพทย์สามารถทำหมันและฉีดวัคซีนสัตว์เฉลี่ยเดือนละ 20,000 ตัว ทั้งนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการรับบริการแต่อย่างใด เจ้าของสัตว์เลี้ยงและผู้ที่มีสัตว์ในบริเวณบ้านสามารถบริจาคได้ตามความสะดวก ซอยด๊อกได้ขยายหน่วยทำหมันเคลื่อนที่มายังกรุงเทพฯ และปริมณฑลและจังหวัดในภาคใต้ โดยมูลนิธิฯ ได้แจ้งตัวเลขการทำหมันสุนัขและแมวทะลุหนึ่งล้านตัวพร้อมขอบคุณผู้สนับสนุนโครงการทุกคน

โครงการทำหมันของซอยด๊อกด้วยกระบวนการ CNVR (Catch = จับ, Neuter = ทำหมัน, Vaccinate ฉีดวัคซีน, Return ปล่อยกลับสู่ถิ่นเดิม) มีผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ หน่วยงานต่าง ๆ อาทิ โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี, กรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ โดยซอยด๊อกได้นำเสนองานควบคุมประชากรสัตว์และกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าด้วยกระบวนการ CNVR จนได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานดังกล่าว เช่น การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรุงเทพมหานครและซอยด๊อกเพื่อจัดการประชากรสุนัขและแมว ในเขตกรุงเทพฯ

นายศิษฏพล เอี่ยมวิสูตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ได้กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสที่มูลนิธิฯ ทำหมันสัตว์ถึงหนึ่งล้านตัว เชื่อมั่นในศักยภาพของโครงการทำหมันซอยด๊อกและเล็งเห็นว่าการลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การต่อยอดเพื่อแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกันในอนาคต นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังเป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรเพียงแห่งเดียวที่ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรคฯ ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ซอยด๊อกยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น โครงการฝึกงานวิชาชีพที่หน่วยผ่าตัดทำหมันซอยด๊อกของนักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสัตวแพทย์ซอยด๊อกได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการจัดการปัญหาสัตว์จรจัดและจัดกิจกรรมทัศนศึกษาหน่วยทำหมันเคลื่อนที่ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

การทำหมันและฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์จรจัดในประเทศไทยถึงหนึ่งล้านตัว ไม่เพียงแต่ลดจำนวนสุนัขจรจัดและขจัดโรคพิษสุนัขบ้าเท่านั้น แต่พบว่ายังสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติและทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสุนัขในชุมชนดีขึ้นอีกด้วย จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับ International Companion Animal Management Coalition (ICAM) สำรวจข้อมูลสุนัขจรจัดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลและประเมินทัศนคติประชาชนที่อาศัยในชุมชนที่ซอยด๊อกลงพื้นที่ทำหมันสุนัขเปรียบเทียบกับชุมชนที่ยังไม่มีการทำหมันสัตว์ในพื้นที่ พบว่าประชาชนสองกลุ่มนี้มีทัศนคติที่ต่างกันอย่างชัดเจนต่อสัตว์จรจัด โดยกลุ่มแรกเห็นว่าปัญหาที่เกิดจากสัตว์น้อยลง ยินดีให้สุนัขอยู่ในบริเวณบ้าน และมีการแสดงเครื่องหมายการเป็นเจ้าของสุนัข เช่น ตั้งชื่อให้ ใส่ปลอกคอ วางชามน้ำและอาหารให้ ในขณะที่กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีโครงการทำหมันพบว่าปัญหาจากสุนัขจรจัดมากขึ้น และสุนัขเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการจำนวนสุนัขจรจัดด้วยวิธีอื่น เช่น การจับสุนัขไว้ในศูนย์พักพิงหรือการตัดวงจรชีวิตด้วยการฆ่าล้างบาง (เซตซีโร่) สัตว์จรจัดทั้งฝูง พบว่าปัญหาสุนัขจรจัดจะหมดไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ปัญหาเดิมจะกลับมาภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและใช้ทรัพยากรมหาศาลทั้งต้นทุนในการจัดการศูนย์พักพิง การจัดหาเจ้าหน้าที่ดูแลสุนัขประจำศูนย์ หรือความโหดร้ายทารุณจากการกำจัดสุนัขจำนวนมาก เป็นต้น การทำหมันฉีดวัคซีนและให้สุนัขได้อยู่ในพื้นที่เดิมเป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด แต่ใช้เวลาจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง เช่นที่จังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์พักพิงซอยด๊อกใช้เวลาถึง 20 ปีกว่าที่จำนวนสุนัขจะลดลง 10 เท่าจากเมื่อปี พ.ศ. 2546 เหลือเพียงไม่กี่พันตัว ณ ปัจจุบัน

นายสัตวแพทย์ตันติกร รุ่งพัฒนะ ผู้อำนวยการโครงการจัดการประชากรสุนัขและแมวประเทศไทยให้ข้อมูลว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนสุนัขและโรคพิษสุนัขบ้าเป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไทย ทั้งนี้มีการแสดงให้เห็นในหลายประเทศแล้วว่าโครงการทำหมันอย่างต่อเนื่องเป็นวิธีเดียวที่สามารถแก้ไขทั้งสองปัญหานี้ได้ในระยะยาวที่ทำให้ทั้งสัตว์และคนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มูลนิธิฯ พบว่าสุนัขแม่ลูกอ่อนในชุมชนและสุนัขที่ร่างกายผอมโซ มีปัญหาผิวหนัง ขี้เรื้อนลดจำนวนลงจนแทบไม่มีภาพเหล่านี้ให้เห็นในพื้นที่ที่ซอยด๊อกเข้าไปทำหมัน ยกตัวอย่างเช่นจังหวัดภูเก็ตที่พื้นที่รอบเกาะเป็นที่อยู่ของสุนัขในชุมชนที่สุขภาพดีและเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้โครงการทำหมันประสบความสำเร็จคือการไม่นำสุนัขเข้าไปไว้ในศูนย์พักพิง แต่ให้กลุ่มที่ทำหมันฉีดวัคซีนแล้วได้อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง สุนัขเหล่านี้จะป้องกันไม่ให้มีสุนัขหน้าใหม่เข้ามาในพื้นที่และสิ้นอายุขัยไปตามธรรมชาติ อีกประการหนึ่งคือทุกคนในชุมชนต้องเป็นหูเป็นตาหากพบเห็นการทิ้งสัตว์เลี้ยงและดำเนินการตามกฎหมายทันที เนื่องจากสัตว์เลี้ยงจำนวนมากไม่ได้ทำหมันและเมื่อกลายเป็นสัตว์จรจัดจึงมาแพร่พันธุ์บนท้องถนนทำให้ไม่ว่าจะทำหมันสัตว์มากเพียงใดก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ รวมถึงการสร้างจิตสำนึกเรื่องการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ

ขณะนี้มูลนิธิฯ ดำเนินงานหน่วยทำหมันสัตว์เคลื่อนที่ทั้งสิ้น 15 หน่วยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลและจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงห้องทำหมันในศูนย์พักพิงที่ภูเก็ตและกรุงเทพฯ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยยังยินดีให้คำปรึกษาและแนะนำการจัดการสุนัขตามแนวทาง CNVR แก่หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้สามารถติดตามการทำงานของมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยได้ที่ www.soidog.org/th และเฟสบุ๊ค มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ประเทศไทย และบริจาคสนับสนุนโครงการทำหมันของมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยได้ที่ ชื่อบัญชี: มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation) เลขที่บัญชี: 573-0-47456-5 ธนาคารกรุงเทพ (BBL)